ผ้าอนามัยแบบสอด |
....จารยา บุญมาก
ณ จุดนี้ เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วัน สำหรับสาวๆ ที่ยังไม่ได้โดนน้ำสงกรานต์เลยสักหยด ทั้งๆ รอคอยมาแสนนาน บางคนดันติดปัญหา “ประจำเดือน” เชื่อว่า สาวๆ คงจะหงุดหงิดใจไม่น้อย หลายคนจึงเลือกที่จะทานยาเลื่อนประจำเดือน มาล่วงหน้าเพื่อให้ได้เล่นน้ำแบบเต็มอิ่ม ในวันหยุดยาว
ทว่า การพึ่งยาดังกล่าวมากไปก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องดี โดยพญ.ธิศรา วีรสมัย สูตินรีแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย รพ.พญาไท 1 กทม.ได้อธิบายถึงสาระความรู้เกี่ยวกับยาดังกล่าว ว่า ปัจจุบันยาเลื่อนประจำเดือน ไม่เพียงแต่นิยมในวัยทำงานเท่านั้น แต่ยังมีวัยรุ่น ใช้อยู่จำนวนไม่น้อย โดยเฉลี่ยแล้วอัตราการใช้อยู่ระหว่างอายุ 20-45 ปี โดยทั่วไปยาที่ผู้หญิงรับประทานเพื่อเลื่อนประจำเดือน มีให้เลือกใช้ได้ 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ ยาฮอร์โมน โปรเจสเทอโรน (progesterone) อีกกลุ่ม คือ ยาเม็ดคุมกำเนิด โดยการเลือกใช้ต่างกัน คือ ถ้าเป็นยาเม็ดคุมกำเนิด มักเลือกใช้ในกรณีทานยาคุมกำเนิดอยู่เดิมแล้ว และต้องการเลื่อนประจำเดือน มีเทคนิค คือ ถ้าเดิมทานยาคุมชนิด 21 เม็ด และเมื่อทานครบ 21 เม็ด ก็จะเป็นช่วงที่มีประจำเดือน แต่ไม่อยากให้มีประจำเดือน ก็ให้เริ่มยาคุมแผงใหม่เลยหลังแผงแรกครบ 21 เม็ด โดยไม่ต้องเว้น และทานต่อจนกระทั่งเสร็จภารกิจ ก็ให้หยุดทาน (นั่นคือแผงนั้นต้องทิ้งไป) จากนั้นรอสัก 3-4 วัน ก็จะมีประจำเดือนมา แต่ถ้าเป็นชนิด 28 เม็ด ก็ให้ทานจนครบ 21 เม็ดแล้วไม่ต้องทายาหลอก 7 เม็ดสุดท้าย แต่ให้เริ่มแผงใหม่ต่อเลยจนกระทั่งเสร็จภารกิจ หยุดทาน ก็จะมีประจำเดือนมาในลักษณะเดียวกัน แต่ถ้าเดิมไม่ได้ทานยาคุมกำเนิดอยู่ก่อน แนะนำให้ใช้เป็นยาโปรเจสเทอโรน โดยทานก่อนวันที่คาดว่าจะมีประจำเดือนสัก 3-4 วัน และทานต่อจนเสร็จภารกิจก็ให้หยุดทาน จากนั้นรอสัก 3-4 วันก็จะมีประจำเดือนมา
ทั้งนี้ ในกรณีโปรเจสเทอโรน มีข้อดี คือ ทานง่ายและหยุดเมื่อต้องการให้ประจำเดือนมาได้ แต่ข้อเสียก็มี คือ เมื่อทานบ่อย จนทำให้การมีประจำเดือนผิดปกติ
นอกจากนี้ ยาในกลุ่มโปรเจสเทอโรน อาจพบผลข้างเคียง เช่น รู้สึกอึดอัด ตัวบวมขึ้นเล็กน้อยขณะที่ทานยาได้ ซึ่งผลข้างเคียงดังกล่าว ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ค่ะ ส่วนผลข้างเคียงจากยาคุมกำเนิด ได้แก่ น้ำหนักตัวขึ้น เจริญอาหาร คลื่นไส้อาเจียน เกิดฝ้า สามารถป้องกันได้ด้วยการทาครีมกันแดด หลีกเลี่ยงแสงแดดช่วงสายๆ หรือบ่ายๆ ป้องกันการคลื่นไส้ด้วยการดื่มน้ำเยอะๆ หลังทานยา และควบคุมน้ำหนักด้วยการออกกำลังกายและคุมอาหาร
แม้มีผลข้างเคียงที่ไม่ร้ายแรงนัก แต่กรณีบางรายซึ่งมีโรคประจำตัวอยู่ก่อน เช่น เนื้องอกมดลูก หรือเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ พอทานยาเลื่อนนานๆ เมื่อหยุดยาแล้วมีประจำเดือนมา อาจพบปัญหาประจำเดือนมามากผิดปกติจนเพลียได้ จึงต้องระมัดระวัง ทานเมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น หรืออาจจะขอคำปรึกษาสูตินรีเวชก่อนทานหากไม่แน่ใจ
“อย่างไรก็ตาม การทานยาเลื่อนประจำเดือนช่วงสงกรานต์ถือว่าเป็นการเลื่อนเฉพาะกิจ และเป็นเทศกาลสำคัญปีละครั้ง ถ้าทานยาเลื่อนควรทานอย่างถูกต้องและทานก่อนวันที่คาดว่า จะมีประจำเดือนสัก 3-4 วัน และทานต่อเนื่องทุกวันจนคิดว่าจะให้มีประจำเดือนมาได้จึงหยุดทาน นอกจากนี้ ในกรณีที่มีประจำเดือนขณะเล่นน้ำสงกรานต์ ต้องดูแลเป็นพิเศษไม่ให้อับชื้น เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ หรือเลือกใช้ผ้าอนามัยแบบสอด ซึ่งจะไม่พบปัญหาเปียกชุ่มน้ำ หรืออับชื้น อันจะนำมาซึ่งเชื้อราได้ และต้องอย่าลืมว่า การดูแลจุดซ่อนเร้นขณะมีประจำเดือนก็สำคัญมาก ควรดูแลให้แห้ง โล่ง โปร่ง สบาย เพื่อป้องกันความอับชื้น ซึ่งจะทำให้เกิดเชื้อราในช่องคลอดได้ แม้เป็นปัญหาเล็กน้อย แต่ก่อให้เกิดอาการคันและเสียบุคลิกภาพได้” พญ.ธิศรา กล่าวทิ้งท้าย...
ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน