วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

4 แหล่งโปรดของคุณสาวๆ ที่ซ่องสุมเชื้อโรคเพียบ

 By Lady Manager


เพราะ เชื้อโรค มีอยู่รอบตัว ไม่เว้นแม้กระทั่งสถานที่ที่ผู้หญิงเราต้องเดินทางไปเยือนบ่อยครั้ง อย่าง ห้องน้ำสาธารณะ ร้านทำเล็บ ฟิตเนส ฯลฯ เพราะแม้จะดูสะอาดตา น่าไว้วางใจ ทว่าแท้จริงแล้วกลับเป็นแหล่งสะสมซ่อนเชื้อโรคเพียบ!
       มาดูกันค่ะ ว่าสถานที่ยอดฮิต ซึ่งสาวเราต้องไปเยี่ยมเยือนอยู่บ่อยๆ นั้น จะมีเชื้อโรคแฝงตัวอยู่จุดไหนตำแหน่งใดกันบ้าง
แหล่งแรก : ฟิตเนส
       สำหรับสาวรักสุขภาพที่หมั่นไปออกกำลังกายฟิตหุ่นตามฟิตเนส (fitness) หรือสปอร์ตคลับ (sport club) บ่อยครั้ง ขอบอกตรงนี้เลยว่า... หากไม่ระวัง ฟิตเนสที่คุณไปเยือนเพื่อหวังสร้างสุขภาพ อาจจะนำเชื้อโรคมาสู่คุณได้!
        จุดแรกที่เชื้อโรคอาจแฝงตัวอยู่ คือ พื้นห้องน้ำ ที่เต็มไปด้วยความชื้น ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เชื้อรา และเชื้อไวรัส (virus) เจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี และเชื้อโรคเหล่านี้เอง ที่เป็นต้นตอของโรคผิวหนังหลากหลายชนิด หากคุณเผลอไปเดินเท้าเปล่าในห้องน้ำบ่อยๆ ล่ะก็ ระวังฮ่องกงฟุตหูดจะถามหานะคะ
       อีกจุดที่ต้องเตือนกันดังๆ คือ บริเวณเก้าอี้..ที่นั่งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นที่นั่งในตู้อบซาวน่า (sauna) ในห้องอาบน้ำ ห้องแต่งตัว ฯลฯ ถือว่าเป็นจุดเสี่ยงมากๆ ที่คุณจะติดเชื้อโรคได้ หากคุณนุ่งผ้าขนหนูสั้นๆ แล้วดั๊นเผลอถลกผ้าขนหนูขึ้นสูง จนก้นที่เปลือยเปล่า ต้องสัมผัสกับพื้นที่นั่งโดยตรง เชื้อแบคทีเรียที่ติดอยู่ตามที่นั่ง อาจเข้ามาป้วนเปี้ยนในน้องหนู และทำให้คุณเกิดผื่นแดง คันยุบยิบ หรือถึงขั้นเกิดเกลื้อนบริเวณจุดซ่อนเร้นได้เลยหล่ะ
       จุดเล็กๆ ที่ไม่ควรมองข้ามคือ เครื่องออกกำลังกายทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นดัมเบล (dumbell), ลู่วิ่ง, หรือจักรยานไฟฟ้า ฯลฯ กว่าจะมาถึงมือคุณ ต้องมีหลายคนเล่นหลากคนจับ จนเชื้อโรคและเชื้อไวรัสต่างๆ เกาะติดอยู่ ฉะนั้นหลังออกกำลังกาย หรือสัมผัสกับเครื่องออกกำลังกายแล้ว อย่าเพิ่งเอามือสัมผัสดวงตา, ปาก, จมูก จนกว่าจะล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่เสียก่อน 
แหล่งที่สอง : ร้านทำเล็บ 
       อีกสถานที่ยอดฮิตซึ่งสาวเราปลื้มปริ่ม อย่างร้านทำเล็บ ก็เป็นอีกแหล่งที่จะติดเชื้อโรคได้ง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอ่างแช่เท้า ที่หากทางร้านล้างอ่างแช่เท้านั้นไม่สะอาด หรือมีระบบการระบายน้ำไม่ดี (กรณีเป็นอ่างระบบน้ำวน) เชื้อโรคในท่อน้ำทิ้งอาจวนเวียนกลับมาอยู่น้ำที่คุณแช่เท้า และการเอาเท้าลงไปแช่ในน้ำเปื้อนเชื้อโรคนี้ จะมีความอันตรายมากขึ้นเป็นทวีคูณ หากคุณดันเผลอโกนขนหน้าแข้ง ก่อนเข้าไปทำเล็บเท้า! ทั้งนี้เพราะการโกนขนหน้าแข้ง มีโอกาสทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเกิดการระคายเคือง แถมเปิดทางให้เชื้อโรคต่างๆ เข้าไปยังรูขุมขนได้ง่ายขึ้นอีกต่างหาก
       ดังนั้นก่อนจะไว้วางใจให้ช่างเล็บได้ตกแต่งเสริมสวยแก่มือเท้า ควรเลือกร้านที่ไว้ใจได้ ดูสะอาดสะอ้าน สังเกตสักนิดว่าทางร้านมีระบบฆ่าเชื้อโรคอย่างไร กรรไกรตัดเล็บหรืออุปกรณ์ที่เป็นโลหะ มีการนำไปอบฆ่าเชื้อหรือไม่ รวมไปถึงตะไบเล็บ ถ้าให้ดีควรเลือกร้านที่ใช้ตะไบเล็บแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพราะของเหล่านี้ต้องสัมผัสกับผิวของคุณโดยตรง คิดดูสิ... หากตะไบเล็บนั้นถูกใช้งัดซอกเล็บขบของคนอื่นจนเลือดซิบๆ มาแล้ว เมื่อเอามางัดแงะเล็บของคุณอีก เชื้อโรคจะไม่ติดตามมาหรอ!?
 แหล่งที่สาม : ห้องน้ำสาธารณะ
       “การใช้กระดาษทิชชู่ซับที่รองนั่งชักโครก สามารถเช็ดเอาสิ่งสกปรก และเชื้อโรคออกได้บ้าง แต่ก็ไม่สามารถป้องกันคุณให้ปลอดภัยจากเชื้อโรคได้ 100%” ดร.Philip M.Tierno ผู้อำนวยการสถาบันจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยา แห่งมหาวิทยาลัย New York ระบุ
       เขาแนะนำว่า คุณสาวๆต้องระมัดระวังการเข้าห้องน้ำสาธารณะให้มากเป็นพิเศษ เพราะแม้จะเช็ดคราบน้ำคราบสกปรกออกจนหมด แต่เชื้อแบคทีเรียเชื้อไวรัสจากอุจจาระหรือปัสสาวะของใครต่อใครที่เข้าก่อนคุณอาจยังหลงเหลืออยู่ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ แนะนำให้คุณใช้ทิชชู่ชนิดที่มีน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเช็ดก่อนนั่ง หรือพกพากระดาษรองนั่งไปปูทับฝาชักโครกก่อนทำกิจส่วนตัว จะป้องกันตัวเองได้ดียิ่งขึ้น
        และหลังเสร็จสิ้นภารกิจส่วนตั๊วส่วนตัวแล้ว ควรปิดฝาชักโครกก่อนกด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายในอากาศ ที่สำคัญ หลังเข้าห้องน้ำแล้ว ควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ ถูอย่างน้อยสัก 15 วินาทีให้ทั่วทั้งมือ ก่อนล้างออกด้วยน้ำสะอาด หรือหากไม่มีสบู่ก็ต้องใช้น้ำสะอาดล้างซ้ำหลายๆ ครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อโรคติดมือคุณออกไป เพราะหากในมือมีเชื้อโรคอยู่ แล้วไปเผลอหยิบจับอาหารเข้าปาก ระวังจะเจ็บป่วยได้ง่ายๆ
แหล่งที่สี่: ห้างสรรพสินค้า
        เมื่อยามไปเดินช้อปปิ้ง (shopping) เลือกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย อาจมีหลายแบรนด์หลากแบบให้เลือก และถ้าจะรู้ว่าถูกใจจริงมั้ยก็ต้องลองสวมใส่ซะหน่อย...นี่เองที่เป็นอีกจุดที่ซ่อนความเสี่ยงเอาไว้
       
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลองชุดว่ายน้ำหรือชุดชั้นในนั้น อันตรายมาก เพราะคุณไม่มีทางรู้หรอกว่า ก่อนจะมาถึงคุณ ชุดนั้นๆ ถูกใครลองมาบ้างแล้ว หากผู้ที่มาลองสวมใส่ก่อนหน้าคุณเขามีแผลพุพอง หรือเป็นโรคผิวหนังอยู่ เสื้อผ้าเหล่านั้นก็จะมีเชื้อโรคเชื้อไวรัสเกาะติดอยู่ เมื่อคราวเคราะห์บังเกิด คุณดั๊นไปลองเจ้าชุดติดเชื้อโรคนั้นพอดี คุณก็มีโอกาสจะติดเชื้อราหรือเชื้อไวรัส จนเกิดโรคผิวหนังโรคเริมได้
       
นอกจากนี้การไปยืนทดลองแต่งหน้าที่เคาน์เตอร์เครื่องสำอางก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องระวัง เพราะคุณก็ไม่อาจทราบได้อีกเช่นกัน ว่าเครื่องสำอางสำหรับทดลองนั้น ผ่านมือใครต่อใครมาบ้าง จะมีเชื้อโรคแฝงอยู่มากน้อยแค่ไหน เกิดสุ่มสี่สุ่มห้าไปลองอายแชโดว์ (eye shadow) หรือมาสคาร่า (mascara) ที่มีเชื้อโรคเข้า คุณอาจถึงขั้นป่วยเป็นโรคเยื่อบุตาอักเสบได้เลยหล่ะ ฉะนั้นถ้าไม่อยากติดโรคจากสาวนักช้อปคนก่อน ใช้วิธีทดลองเครื่องสำอางที่มือ หรือข้อมือของคุณแทนดีกว่า.. ปลอดภัยกว่าเยอะ!
       
       เรียบเรียงจากไชน์

อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
รอบคอบสักนิด...หากคิดเข้าฟิตเนส
   ปัจจุบันคนทำงานออฟฟิศเริ่มหันมาให้ความสนใจกับการออกกำลังกายมากขึ้น โดยการสมัครเข้าเป็นสมาชิกฟิตเนสต่างๆ ที่อยู่ใกล้ที่ทำงาน เพื่อความสะดวกในการเดินทาง สนนราคาค่าสมาชิกต่อปีก็มิใช่น้อยอย่างต่ำๆ ต้องมีหลักหมื่นขึ้นไป เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าบรรดาฟิตเนสต่างก็งัดกลยุทธ์ต่างๆ มาดึงดูดใจลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการหักค่าสมาชิกจากบัตรเครดิตเป็นรายเดือน กลยุทธ์ลดแลกแจกแถม ให้ลองเล่นฟรี ตลอดจนใช้วิธีสมาชิกแนะนำสมาชิกรับของที่ระลึก
          ดังนั้น เพื่อให้การใช้เงินครั้งนี้ของเราเป็นไปอย่างคุ้มค่าก่อนตัดสินใจสมัครสมาชิกฟิตเนส อยากจะให้พิจารณาให้รอบคอบสักนิด
  1. อันดับแรกก็ต้องมีวินัย การตัดสินใจออกกำลังกายนับเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ต้องมีวินัย ถ้าไม่มีวินัยท่านจะเสียเงินฟรี อย่างน้อยๆ ต้องไปให้ได้สัปดาห์ละ 3 วัน แต่ถ้าคิดว่าทำได้น้อยกว่านี้อย่าสมัคร ไปวิ่งจ๊อกกิ้งรอบบ้าน หรือไปสวนสาธารณะถูกกว่า
  2. อย่ารีบสมัครเพียงเพราะเพื่อนชวน กลยุทธ์สมาชิกแนะนำสมาชิกที่ฟิตเนสต่างๆ นำมาใช้นับว่าได้ผลมาก เมื่อมีคนสมัครสมาชิกจะให้แนะนำรายชื่อเพื่อนอีก 5 - 10 รายชื่อ พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ โดยจะมีของสมนาคุณให้ 1 ชิ้นเมื่อมีเพื่อนคนหนึ่งคนใดสมัครสมาชิก ผู้ที่แนะนำก็จะได้ของอีก 1 ชิ้น และทำอย่างนี้ต่อกันไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไรเป็นกลยุทธ์ของเขา แต่เราผู้ที่จะสมัครต้องพิจารณาดีๆ พร้อมหรือไม่ ทั้งด้านการเงิน และเวลา
  3.สอบถามค่าสมาชิกให้ชัดเจนส่วนใหญ่เวลาโทรมาชักชวนจะอ้างชื่อเพื่อนที่แนะนำ หลังจากนั้นจะโฆษณาว่ามีเล่นอะไรได้บ้างดีอย่างไร มีสาขามากมาย สะดวกสบายหักค่าสมาชิกเป็นรายเดือนได้โดยหักจากบัตรเครดิต โดยยังไม่บอกว่ามีค่าธรรมเนียมแรกเข้า หรือหากบอกก็จะเป็นลักษณะประมาณว่าราคาปกติเท่านี้ แต่ถ้าสมัครภายในวันนี้จะได้รับส่วนลด 50% ทันที อะไรทำนองนี้ แต่ที่น่าเจ็บใจคือ บางคนต่อรองเก่งๆ ไม่ต้องเสียค่าแรกเข้า คนไหนต่อไม่เป็นคิดว่า "โอ้โฮวันนี้ลดตั้ง 50%" ก็รีบสมัคร… เรียบร้อยโรงเรียนฟิตเนส อย่าไปตื่นเต้นกับประโยคที่ว่า "ราคานี้วันนี้วันสุดท้ายแล้ว" เพราะอาจทำให้กระเป๋าเราไม่ฟิตและไม่เฟอร์ม
  4.อ่านกติกาดีๆ สมัครไปแล้วหากไม่ถูกใจยกเลิกได้หรือไม่ บางแห่งมีกติกาห้ามยกเลิกภายในปีแรก แต่สามารถขอหยุดพักได้หลังจากสมัครไปแล้ว 3 เดือน โดยเสียค่าสมาชิกรายเดือน 20% ของค่าบริการรายเดือน ตลอดจนเงื่อนไขอื่นๆ อีกมากมาย ก็ขอให้อ่านให้เข้าใจเรียบร้อยก่อน อย่ารีบร้อน
  5.สอบถามขั้นตอนการให้บริการให้ชัดเจนมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง เช่น มีการแนะนำการใช้เครื่อง การจัดโปรแกรมการออกกำลังกาย มีครูฝึกที่คอยแนะนำไหม ใช้บริการสาขาไหนได้บ้างขั้นตอนเป็นอย่างไร ฯลฯ เพราะเครื่องออกกำลังกายบางครั้งถ้าเราเล่นไม่ถูกวิธีก็อาจเกิดปัญหาต่อร่างกายได้
  6.การจัดโปรแกรมเฉพาะที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มในบางรายอาจต้องการลดน้ำหนักให้ได้ผลหรือลดเฉพาะบางส่วน ต้องมีครูฝึกส่วนตัวซึ่งต้องควักกระเป๋าจ่ายเพิ่ม โปรดระวังถ้าไม่มั่นใจว่าจะสามารถไปได้ตามเวลาที่กำหนดโปรดยับยั้งชั่งใจไว้ก่อน มิฉะนั้นท่านจะเสียเงินฟรีอีก เพราะถ้าไม่สามารถทำได้ตามเวลาที่กำหนด ส่วนเกินต่างๆ ก็ยังอยู่เหมือนเดิม
  7.ก่อนสมัครสมาชิกควรขอทดลองใช้บริการก่อน เพื่อจะได้ตรวจสอบก่อนว่าเป็นไปตามคำโฆษณาหรือไม่
          การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดี และมีหลายวิธีที่ช่วยให้เราออกกำลังกายได้ การสมัครใช้บริการฟิตเนสก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เราสนใจอยากจะออกกำลังกายเพราะมีอุปกรณ์ มีเพื่อน และผู้ให้คำแนะนำพร้อม แต่เพื่อให้ทั้งร่างกายและกระเป๋าเรา "ฟิตแอนด์เฟอร์ม" ทางที่ดีก็ควรตรวจสอบให้รอบคอบก่อน...



ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th
ภาพจาก Internet
consumersouth.org

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น