แต่งงานร่วมสมัย(ไม่)จำเป็นต้อง 'เยอะ' !...เป็นเพราะบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไปหรือเปล่าก็รู้ แต่ดูเหมือนว่าการแต่งงานในยุคนี้บอกได้คำว่าเดียวว่า 'จัดเต็ม' ในเรื่องพิธีกรรมอาจมีการย่นย่อบ้าง แต่ในเรื่องงานเลี้ยงเฉลิมฉลองนั้นสุดจะอลังการงานสร้าง
ปีนี้ ก็มีคู่รักจำนวนมากจูงมือเข้าสู่ประตูวิวาห์ ไล่เรียงกันตั้งแต่คนธรรมดาๆ ไปจนถึงผู้ที่มีหน้ามีตาในวงสังคม ชาวไทยเองเชื่อกันว่าการแต่งงานนั้นเป็นการให้เกียรติฝ่ายหญิง ซึ่งนอกจากจะเป็นพิธีสานความสัมพันธ์ความรักระหว่างคนสองคนยังเป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีระหว่างสองตระกูลอีก
งานแต่งงานส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่ได้จบแค่พิธีกรรมทางศาสนาเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้สักแต่ว่าทำพิธีแล้วเข้าเรือนหอ หรือเชิญแขกผู้ใหญ่ที่นับถือมาเป็นสักขีพยาน มันมีความซับซ้อนยิ่งกว่านั้นเริ่มกันตั้งแต่การคิดธีมงาน จะว่าไปราวกับงานแต่งงานสมัยนี้ถูกปรับโฉมให้เป็นงานอีเวนท์เลยก็ว่าได้ ร่อนการ์ดเชิญแขกเหรื่อยิ่งเป็นที่นับหน้าถือตาในวงสังคมยิ่งดี หรือตรงกับฤกษ์มหามงคลก็ถือเป็นสิริมงคลนักหนา จนบางทีคู่บ่าวสาว และความรัก ได้กลายเป็นส่วนประกอบเล็กๆ ของงานไป ส่วนพระเอกก็คือความยิ่งใหญ่อลังการของงานแต่งงานนั้นเอง
โดยเฉพาะพิธีแต่งงานของดารานักแสดง หรือผู้มีหน้ามีตาในวงสังคม แต่งงานทั้งทีงานนี้ต้องเป็น ทอร์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ กันเสียหน่อย จะธีมสร้างสรรค์, หรูหรา, ท่ามกลางธรรมชาติ หรือเทพนิยาย ก็มีให้เห็นหมด
อาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมการแต่งงานในสมัยนิยมของประเทศไทยรับอิทธิมาจากต่างชาติดล้วนๆ เพียงแต่เรามีการปรับเปลี่ยนตามบริบททางสังคม ดร.วัลลภ ปิยะมโนธรรม นักจิตวิทยาชื่อดัง เล่าให้ฟังว่า วัฒนธรรมการแต่งงานนั้นเรารับมาจากคาทอลิกที่เริ่มต้นจากความรู้ว่าเพียงแค่คนสองคนรักกันนั้นไม่ยั่งยืน อีกอย่างหนึ่งคาทอลิกจะเน้นในเรื่องการรักเดียวใจเดียวสังเกตได้จากการสาบานในโบสถ์ว่าจะมีคู่ครองคนเดียว เลยจำต้องมีพิธีกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องผูกเชื่อมสัมพันธ์เอาไว้
“ถ้าแต่งงานแบบธรรมดาคนไทยมีนิสัย 3A อย่างคือ Adopt รับเข้ามาอย่างเดียว, Adap มาปรับเปลี่ยน, Accumulate กลายเป็นความกลมกลืนว่าเขาทำกันอย่างนี้มาโบราณแต่มันไม่ใช่ เรารับเข้ามาหมดแล้วมาปรับเอง คือมีแต่งเติมออกฝรั่งนิดหนึ่ง กลมกลืนว่าเป็นวัฒนธรรมต้นเอง วัฒนธรรมการแต่งงานมันหลากหลายมาก มาจากจีน อินเดีย ฯลฯ กลายเป็นว่าเราค่อนข้างจะเพี้ยนๆ โดยดูจากฝรั่งก่อน”
อย่างในเรื่องสินสอดทองหมั่น งานเลี้ยงฉลองสมรส เชื้อเชิญแขกผู้ทรงเกียรติ ฯลฯ ก็ล้วนรับอิทธิพลมาจากตะวันตก เพียงแต่มีการปรุงแต่งให้เข้ากับทัศนคติของคนไทย ที่ดูจะฟุ้งเฟ้ออยู่ไม่น้อยจนกลายเป็นสิ่งที่ยึดปฏิบัติมาจนทุกวันนี้
“รับเข้ามาแล้วก็มาเวอร์ เป็นเรื่องการเชิดหน้าชูตากันจนไม่รู้ว่าการแต่งงานจริงๆ คือคนสองคนรักกันมันเป็นความจริงใจมากกว่าเปลือกนอกที่ให้มากรักมาก มันเพี้ยนไปหมด เป็นวัตถุสิ่งของภาพนอกเปลือกนอกไปหมด”
พิธีการแต่งงานในปัจจุบันค่อนข้างจะยุ่งยากซับซ้อน การที่จะให้คู่บ่าวสาว เครือญาติ หรือเพื่อนๆ ช่วยเป็นธุระในการจัดการให้งานก็อาจออกมาไม่ตรงใจนักเรียกว่าเสียทั้งแรงทั้งเวลา ตรงนี้เองก็มีออแกไนซ์เซอร์มือฉบังเข้ามาเป็นตัวช่วยจัดเตรียมพิธีแต่งงาน ซึ่งก็ดูเหมือนว่าปัจจุบันจะเป็นที่นิยมกันมากขึ้นเรื่องๆ
ธนกฤต เตชะปฐมานนท์ ผู้จัดการร้าน TK Center Organizer เปิดเผยว่า การที่คู่แต่งงานหันมาใช้ออแกไนซ์เซอร์เท่ากับเป็นการลดความยุ่งยากและความกังวลใจในเรื่องของพิธีกรรมและรูปแบบงาน เพียงแค่บอกว่าความต้องการทางออแกไนซ์เซอร์ก็จะดูแลทุกอย่างให้เรียบร้อย
พิธีการแต่งงานนั้นสามารถแยกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ตลาดล่าง, ตลาดกลาง และตลาดบนที่จะจัดงานในระดับราคา 5 แสนบาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับกำลังและความพุ่งพอใจของลูกค้าที่มีตกลงร่วมกัน
“เพราะด้วยภาระหน้าของการงานเรื่องงานที่ตัวเองรับบผิดชอบมอบหมาย ก็ค่อนข้างที่จะหมดเวลาไปแล้ว เพราะฉะนั้นการบอกความต้องการกับออแกไนซ์ แพลนเนอร์ ว่าต้องการแบบไหนเขาก็จะดีไซน์เอาโครงออกมา ค่อนข้างที่จะตรงใจกับคู่บ่าวสาว ในเรื่องของธีมงานมันเป็นเรื่องของคอนเสป ของความชอบ เป็นเรื่องของคาแรคเตอร์ของคู่บ่าวสาว รสนิยมที่ไม่เหมือนกัน”
รูปแบบงานแต่งงานนั้นถือเป็นความพึ่งพอใจส่วนบุคคล อย่างดารานักแสดง หรือผู้มีชื่อเสียงในวงสังคม ที่จัดกันเสียใหญ่โตก็เป็นการแสดงออกซึ่งความให้เกียรติคู่สมรส ให้เกียรติวงศ์ตระกูล และไลฟสไตล์ของพวกเขาเอง
“มันป็นเรื่องของประเพณี ในเรื่องความเนี๊ยบของพิธีมันเป็นความยืดหยุ่นของแต่ละบ้าน แต่งานเย็นงานเลี้ยงฉลองเป็นเรื่องของไลฟสไตล์ ในเมื่อต้องจ่ายแล้วทุกๆ คนก็ต้องการงานในฝัน ต้องการงานที่อยากจะได้ในรูปแบบที่เขาคิดเอาไว้ในใจ ถ้าเขาไม่เดือดร้อนที่จะจ่ายมันเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับศักยภาพด้านการเงิน”
วิวัฒนาการของการแต่งงานนั้นก็ปรับเปลี่ยนกันไปตามยุคตามสมัย ธนกฤต กล่าวเพิ่มเติมว่ามันเพิ่มในส่วนของความวิจิตร อย่างเมื่อก่อนมีพรีเซนเตชั่นก็แค่เอาภาพมารันนิ่งเป็นเรื่องราว แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีทั้งแอนนิเมชั่น, หนังสั้น ฯลฯ เป็นเรื่องราวที่ละเมียดขึ้น
ถ้าสำรวจพิธีการต่างๆ ในสังคมไทยก็จะเห็นว่าเราเปิดรับวัฒนธรรมของต่างชาติเข้ามาเยอะเสียจนลืมเลือนบางอย่างไป แม้พิธีการแต่งงานยังคงซึ่งความเป็นไทยแต่ในเรื่องพิธีกรรมแต่ก็ถูกลดทอนบทบาทลงมาก เพราะมักจะให้ความสำคัญในเรื่องรูปแบบงาน และความยิ่งใหญ่สมเกียรติวงศ์ตระกูลเสียมากกว่า อาจกล่าวได้ว่าพิธีการแต่งงานในปัจจุบันผิดเพี้ยนไปเป็นงานโชว์ตัวบ่าวสาวเป็นเวทีประกาศชื่อเสียงเงินทองและเกียรติยศเสียแล้ว
......................
ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
http://www.manager.co.th
ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น