วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เรื่องไม่ควรพูด เมื่อเข้าวงสนทนากับเพื่อนบ้าน

พญ.ภัทรวรรณ ขันธ์แก้ว จิตแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลมนารมย์

สังคม “เพื่อนบ้าน” เป็นอีกหนึ่งสังคมเล็กๆ ที่หลายคนเลือกผูกมิตรไว้เป็นเพื่อนคุย และแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆ ซึ่งเปรียบเสมือนญาติที่คอยเอื้ออาทร และช่วยเหลือกัน แต่ในความสัมพันธ์ดังกล่าว อาจเกิดปัญหาผิดใจกันได้ หากขาดทักษะการสื่อสารที่เข้าอกเข้าใจ และยอมรับในความแตกต่างซึ่งกันและกัน
       
       เกี่ยวกับเรื่องนี้ พญ.ภัทรวรรณ ขันธ์แก้ว จิตแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลมนารมย์ บอกผ่านทีมงาน Life & Family ว่า การเข้ากลุ่มกับเพื่อนบ้าน สิ่งที่ต้องมี คือ ทักษะการฟัง ฟังว่าคนอื่นพูดอะไร คิดอะไร และต้องการอะไร เมื่อฟังแล้ว อาจคิดเห็นตรงกันหรือไม่ก็ได้ แต่ควรยอมรับความเป็นตัวตนและความคิดเห็นของกันและกัน
       
       “ปัญหาหลักๆ ที่ทำให้เกิดเรื่องขึ้นมา ก็คือ การเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์ หรือตัดสินคนอื่นจากสิ่งที่เขาทำ เช่น บ้านหลังนี้มีปัญหา สามีไม่ดี ทำเรื่องแบบนั้นแบบนี้โดยที่เราเองก็ไม่รู้หรอกว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร หรือเข้าไปเสนอข้อคิดเห็นว่า ทำไมไม่ทำแบบนั้นล่ะ เพราะฉันก็ทำแบบนี้เหมือนกัน หรือทำไมไม่คิดแบบนั้นล่ะ การเข้าไปชี้นำ หรือรุกล้ำความเป็นส่วนตัวมากเกินไป อาจเกิดผลลบมากกว่าผลบวก" จิตแพทย์เผย
       
       ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาการผิดใจกันกับเพื่อนบ้าน สิ่งหนึ่งที่ควรระวัง คือ ประเด็นและหัวข้อเรื่องในการพูดคุย ซึ่งเรื่องนี้ พญ.ภัทรวรรณ ได้สรุปหัวข้อที่ “ไม่ควรพูด” ในวงสนทนาออกเป็น 4 เรื่องหลักๆ ดังต่อไปนี้
ภาพจาก:www.gettyimages.com
        ปัญหาในครอบครัว
       
       เรื่องภายในครอบครัว เป็นเรื่องที่ไม่ควรเอาไปพูดในวงสนทนา ไม่ว่าจะเรื่องสามี ภรรยา และลูก รวมไปถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ เพราะอาจจะมีเพื่อนบ้านบางคนไม่เข้าใจเรื่องราวทั้งหมด และเอาไปพูดจนเกิดเสียงซุบซิบนินทาตามมา หรือวันดีคืนดีอาจไปเข้าหูคนในบ้านจนเกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โตขึ้นได้ ทางที่ดี ควรพูด หรือแก้ปัญหากันเองในครอบครัว หรือถ้าอยากระบาย ลองหาญาติ หรือเพื่อนสนิทที่ไว้ใจได้เป็นเพื่อนคุย

การเมือง และศาสนา
       
       เรื่องการเมือง และศาสนา เป็นเรื่องของความเชื่อ และความศรัทธาส่วนบุคคล ถ้าจะเถียงกันเพื่อเอาชนะคงไม่มีวันจบสิ้น และอาจจะเกิดปัญหารุนแรง จนมองหน้ากันไม่ติดได้ ทางที่ดี ควรเปลี่ยนเรื่องคุยไปเลย หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรรับฟัง และพยายามเข้าใจถึงความคิดเห็นของบุคคลอื่น ถ้าความคิดของเรากับเขาไม่ตรงกัน ไม่ควรเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงท่าทีต่อต้าน แต่ควรยอมรับความแตกต่างที่มีอยู่ และพยายามเข้าใจว่าทำไมเขาหรือเธอจึงคิดเห็นต่าง
       
       รสนิยม ความชอบ
       
       ต้องยอมรับว่า ความชอบ และรสนิยมของแต่ละคนนั้น ไม่เหมือนกัน เพื่อนบ้านคนนี้ทำไมถึงชอบอย่างนั้น ทำไมไม่ชอบเหมือนเรา ซึ่งป่วยการที่จะมาถกเถียงกัน แต่ถ้าจะคุยกันเรื่องนี้ อย่าพยายามเข้าไปเปลี่ยนความคิดของคนอื่น แต่ควรเข้าใจ และเคารพในรสนิยม และความชอบของคนอื่น
            ภาพจาก: www.amrsalah.com
     เรื่องของเพื่อนบ้าน
       
       การวิพากษ์วิจารณ์ หรือเข้าไปตัดสินการกระทำของเพื่อนบ้าน อาจนำไปสู่เรื่องราวใหญ่โตตามมาได้ ซึ่งนอกจากจะทำให้คุณไม่สนิทใจกับเพื่อนบ้านคนดังกล่าวแล้ว อาจทำให้เพื่อนบ้านคนอื่นๆ ฝังความคิดเกี่ยวกับนิสัยที่ไม่ดีของคุณไว้ในความทรงจำได้ ทางที่ดี เลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ หรือนินทาเรื่องผู้อื่นเป็นดีที่สุด
       
       “ครอบครัวแต่ละครอบครัวต่างมีกฎกติกาไม่เหมือนกัน และอาจไม่เหมือนกับครอบครัวของเราด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่มีถูกไม่มีผิด แต่ถ้าเราเข้าไปบอกว่า ทำไมเธอไม่เลี้ยงลูกแบบนั้นล่ะ หรือทำไมเธอไม่จัดการสามีแบบนี้ล่ะ การเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์ทั้งต่อหน้าและเอาไปพูดในวงสนทนา อาจทำให้เรากับเพื่อนบ้านคนดังกล่าวไม่สนิทใจกันได้ เพราะบ้านเขาอาจมีเหตุผล หรือข้อตกลงไม่เหมือนบ้านเรา” พญ.ภัทรวรรณ เสริม
ภาพจาก: www.GoldensteinArt.com
       
       ดังนั้น หากทุกคนมีความเข้าอกเข้าใจ มีความรัก และความจริงใจต่อกันแล้ว สังคมก็จะเต็มไปด้วยความช่วยเหลือเกื้อกูล และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน...


ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:   
www.manager.co.th


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น