วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ครอบครัวฉันเสี่ยงต่อโรคหลงตัวเองหรือไม่...ดร.นพ.ยุทธนา ภาระนันท์

                                                   ภาพจาก Internet

อย่างไหนจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ มากกว่ากัน ระหว่า ตามใจ กับ เตือนใจ
       
       คมคิด: ความรักไม่ใช่การตามใจ (Based on 1 Corinthians 13:6, 2012)
       
       Q: คุณหมอครับ ผมทำแบบสำรวจโรคหลงตัวเองใน facebook แล้วมีบางข้อ จะทำอย่างไรดีครับ
       
       A: คุณหมอยุทธนา...อาการหลงตัวเองเป็นความผิดปกติของการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self worth) ในแบบเกินจริง ทำให้ยึดตนเองเป็นใหญ่ หมกมุ่นแต่ตนเอง ไม่สามารถเข้าอกเข้าใจผู้อื่นได้ แสดงออกมาใน 3 รูปแบบอาการ ย่อว่า 3 ย. กล่าวคือ
       
       1.ยิ่งใหญ่ (Grandiose exhibitionism)
       
       หมกมุ่นแต่ตัวเอง ฉันเป็นคนสำคัญมากๆ ฉันหล่อ ฉันสวย ฉันเก่ง ฉันแน่ ฉันสุดยอด ฉันมีพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ หยิ่งยโส อวดดี
       
       2.ยอมรับ (Entitlement)
       
       ต้องการการยอมรับ คำชื่นชม การยกย่องอย่างมาก กระหายตำแหน่ง ชื่อเสียง สิทธิพิเศษ อย่างมาก
       
       3.แย่งชิง (Exploitativeness)
       
       ยึดประโยชน์ของตนเป็นใหญ่ เอาเปรียบ ใช้คนอื่นเป็นเครื่องมือ ไม่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น อิจฉาริษยา เปรียบเทียบชิงดี ต้องการเอาชนะ
       
       อาการเหล่านี้มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือปฏิสัมพันธ์เชิงลบต่อกันในครอบครัว ซึ่งมักก่อตัวตั้งแต่วัยเด็ก แต่หากเรารู้เท่าทันตั้งแต่วันนี้ ก็จะช่วยลดและป้องกันปัญหาได้อย่างมาก ดังนั้นให้เรามาสำรวจตัวเราและบรรยากาศในครอบครัวว่าเสี่ยงต่อโรคหลงตัวเองหรือไม่...(Based on Groopman and Cooper.2006)
       
       แบบสำรวจครอบครัวเสี่ยงต่อโรคหลงตัวเอง (Parenting-induced Narcissism Check) 
       
       ช่วงที่ผ่านมา บรรยากาศครอบครัวของท่าน เป็นอย่างไรบ้าง ? (กรุณา √ ข้อที่เกิดขึ้นจริง)
       
       1.มีแต่ชมเชย ตามใจ ไม่เคยเตือนสติ ห้ามปราม
       
       2.ตำหนิ กล่าวโทษ ดุด่ากันอยู่บ่อยๆ
       
       3.เมื่อสำเร็จหรือทำได้ดี ก็เยินยอกันจนเกินจริง
       
       4.ใส่ใจประคบประหงมต่อกันมากจนเกินไป
       
       5.ให้สิทธิพิเศษหรือให้การยกย่องเป็นพิเศษกับความเก่ง จนเคยตัว
       
       6.มีการใช้อารมณ์ก้าวร้าวต่อกันอย่างรุนแรง
       
       7.เลี้ยงดูเอาใจใส่ต่อกันในแบบที่ไม่แน่นอน ไม่อาจคาดเดาได้
       
       8.เพิกเฉย ปล่อยปละละเลยต่อกันจนเกินไป
       
       9.การอบรมเลี้ยงดู ให้ความรัก เป็นในแบบเพื่อชดเชยหรือสนองต่อความต้องการลึกๆในตนเองที่ขาดอยู่
       
       10.ให้การเลี้ยงดู เอาใจใส่ลูกๆ อย่างไม่เท่าเทียม
       
       แปลผล & ข้อเสนอแนะ
       
       หากมี 1-2 ข้อ แสดงว่า มีความเสี่ยงก่อให้เกิดอาการหลงตัวเองไม่มาก, 3-7 ข้อ แสดงว่า มีความเสี่ยงปานกลาง ควรรีบแก้ไขทันทีในบางข้อ, 8-10 ข้อ แสดงว่า มีความเสี่ยงสูง ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน
       
       เพื่อพัฒนาในเรื่องนี้ ลองเรียนรู้ผ่านคลิปวีดีโอข้างล่างนี้ (กรุณาเปิดคลิปวีดีโอ แม่ต้อย)...แม่ต้อยใช้ชีวิต 2 ปีที่เหลืออยู่อย่างมีคุณค่าอย่างไร? เธอดูแลเด็กๆอย่างไร? สิ่งนี้ท่านจะนำมาทำให้เกิดขึ้นในครอบครัวได้อย่างไร? นอกจากนี้ผมมีหลักสูตรแนะนำ ได้แก่ พลิกโลก เปลี่ยนชีวิต...ด้วยจิตสาธารณะ, อารมณ์ดีอย่างอัจฉริยะ...ด้วย Smart Brain สนใจกรุณาติดต่อ yparanan@gmail.com
       
       "ความรักเติมเต็มคุณค่าให้ชีวิต" ท่านเห็นด้วยหรือไม่?





ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th : 18 พฤษภาคม 2555 12:47 น.


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น