วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ลูกเหม็น




“ลูกเหม็น” เป็นผลิตภัณฑ์ใกล้ตัวที่ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในการป้องกันแมลงกัดกินเสื้อผ้าในตู้เสื้อผ้า หรือใช้เพื่อดับกลิ่นในห้องน้ำ ลูกเหม็นมีทั้งชนิดก้อน ชนิดเม็ดและชนิดผลึก ซึ่งประกอบไปด้วยสารเคมีที่มีชื่อว่า “แนพทาลีน (naphthalene)” มากกว่าร้อยละ 99 โดยน้ำหนัก สารชนิดนี้สามารถระเหิดหรือเปลี่ยนสถานะที่อุณหภูมิห้องจากของแข็งกลายเป็นไอที่มีกลิ่นป้องกันแมลงได้ แนพทาลีนเป็นสารประกอบที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ พบได้ในถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม และเกิดจากการเผาไหม้ของสารประกอบอินทรีย์ เช่น ไม้ บุหรี่ ปัจจุบันนอกจากมีการนำแนพทาลีนไปใช้เป็นลูกเหม็นกันแมลงแล้ว ยังมีการผลิตแนพทาลีนเพื่อนำไปใช้ในการผลิตพลาสติกพีวีซี เรซิน สารฟอกหนัง สีย้อม และสารฆ่าแมลงบางประเภทอีกด้วย


แนพทาลีน (naphthalene)


ชื่อทางเคมี : NAPHTHALENE


สูตรเคมี : C10H8


หมายเลข CAS : 91-20-3


น้ำหนักโมเลกุล : 128.16




คุณสมบัติทางกายภาพและเคมี : ของแข็งสีขาว   มีกลิ่นเฉพาะตัว   เปลี่ยนสถานะจากของแข็งกลายเป็นไอได้ที่อุณหภูมิห้อง   ไอระเหยของแนพทาลีนสลายตัวได้ในอากาศด้วยแสงแดดและความชื้น แนพทาลีนทำปฏิกิริยารุนแรงกับตัวออกซิไดซ์แรง ไนโตรเจนออกไซด์


ประโยชน์และกลไก : ไอจากการระเหิดมีกลิ่นและฤทธิ์ไล่แมลง และกลบกลิ่นอื่นๆ จึงใช้ป้องกันแมลงกัดกินเสื้อผ้าในตู้เสื้อผ้า หรือใช้เพื่อดับกลิ่น


ความเป็นพิษ :


            โดยปกติแนพทาลีนสามารถเข้าสู่ร่างกายของเราได้  โดยการหายใจเอาอากาศที่มีไอระเหยของแนพทาลีนจากเสื้อผ้าหรือผ้าห่มที่มีการใช้ลูกเหม็น หรือสัมผัสกับลูกเหม็นหรือเสื้อผ้าหรือผ้าห่มที่มีการใช้ลูกเหม็น รวมไปถึงจากการกินด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือจากอุบัติเหตุ เช่น ในเด็ก ในชีวิตประจำวันที่มีการสูดดมไอของแนพทาลีนที่ค่อยๆ        ระเหิดออกมาจากก้อนลูกเหม็นเข้าไปในปริมาณไม่มาก    และไม่ต่อเนื่องก็อาจไม่แสดงอาการของการเกิดอันตราย    อย่างไรก็ตามการได้รับแนพทาลีนเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากอาจมีผลต่อสุขภาพดังนี้


การสัมผัสทางผิวหนัง :


            อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง. 


การสัมผัสทางตา :


            อาจทำให้เกิดการระคายเคืองดวงตา เป็นพิษต่อเรตินา ไอของแนพทาลีนที่มีความเข้มข้นมากกว่า 15 ppm อาจทำให้เกิดต้อกระจก ประสาทตาอักเสบ เกิดการบาดเจ็บของกระจกตา และระคายเคืองตาอย่างรุนแรง


การสูดดม :


            อาจเป็นอันตรายหากสูดดม      สารนี้อาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองที่แผ่นเยื่อเมือก    และบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน
การกลืนกิน :


            ทำให้คลื่นไส้     อาเจียน     ท้องเดิน     เมื่อแนพทาลีนถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดเมธฮีโมโกลบินซึ่งจะก่อให้เกิดอาการตัวเขียวได้ถ้ามีความเข้มข้นสูงพอ    การเริ่มแสดงอาการอาจจะเกิดช้าได้ภายใน 2 ถึง 4 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น อาจมีเลือดออกในปัสสาวะ และอาจเสียชีวิตได้


            หากได้รับแนพทาลีนในปริมาณมาก เม็ดเลือดแดงจะถูกทำลายทำให้เกิดภาวะโลหิตจางซึ่งจะพบในคนที่กินลูกเหม็น พบว่า ทารก เด็ก สตรีมีครรภ์ คนที่มีระดับเม็ดเลือดแดงต่ำหรือมีเอนไซม์ glucose-6-phosphate dehydrogenase (G6PD) บกพร่องจะเกิดภาวะโลหิตจางได้ง่ายเมื่อได้รับแนพทาลีน


            นอกจากนี้แนพทาลีนที่ตกค้างในร่างกายของแม่   สามารถส่งผ่านไปยังลูกผ่านทางรกและนมแม่ได้และอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง  อย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าแนพทาลีนมีผลต่อพัฒนาการหรือเป็นพิษต่อทารกในครรภ์    การทดลองในสัตว์พบว่าการสูดดมแนพทาลีนต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพิ่มอุบัติการณ์การเกิดเนื้องอกและมะเร็งในจมูกและปอด แต่ไม่พบหลักฐานยืนยันการก่อมะเร็งในคน    ดังนั้นบางหน่วยงานจึงจัดแนพทาลีน   เป็นสารที่เป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดมะเร็งในคน ในขณะที่บางหน่วยงานจัดระดับความเป็นอันตรายของแนพทาลีนว่าไม่เป็นสารก่อมะเร็งในคน


ผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ :


            เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำเป็นอันตรายต่อแหล่งน้ำดื่ม กำจัดได้ยาก ห้ามทิ้งลงสู่ระบบน้ำ, น้ำเสีย หรือดิน

การปฐมพยาบาล :


            เมื่อสูดดม: ให้รับอากาศบริสุทธิ์ นำส่งแพทย์ถ้าจำเป็น


            เมื่อถูกผิวหนัง: ชะล้างออกด้วยน้ำปริมาณมาก ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนออกทันที


            เมื่อเข้าตา: ชะล้างออกด้วยน้ำปริมาณมาก โดยลืมตากว้างในน้ำ นำส่ง / พบจักษุแพทย์


           เมื่อกลืนกิน: ดื่มน้ำปริมาณมาก ทำให้อาเจียน หลังจากนั้นให้กิน คาร์บอนกัมมันต์ (Activated charcoal) ปริมาณ 20-40 กรัมละลายในน้ำ 200-400 มิลลิลิตร นำส่งแพทย์ ห้ามให้กินนม ห้ามให้กินน้ำมันละหุ่ง ห้ามให้กินแอลกอฮอล์ 


ข้อควรปฏิบัติและการเก็บรักษา :
            เมื่อไม่ได้ใช้ควร   ปิดให้แน่น   เก็บในที่แห้ง   เก็บในที่เย็น บริเวณที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดี เก็บห่างจากแหล่งกำเนิดประกายไฟและความร้อน  และพ้นมือเด็ก  ก่อนจะใช้เสื้อผ้าหรือผ้าห่มที่มีการใช้ลูกเหม็นป้องกันแมลง   ให้นำออกมาตากแดดหรือผึ่งลม   เพื่อกำจัดกลิ่นและไอระเหยของแนพทาลีนที่ตกค้างเสียก่อน และควรซักอีกครั้งก่อนที่จะสวมใส่ หลีกเลี่ยงการใช้ลูกเหม็นกับเสื้อผ้าของเด็กและทารก ลดปริมาณการใช้ก้อนดับกลิ่นโดยไม่จำเป็น







ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:


http://anamai.in.th
http://www.pharm.su.ac.th

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น