วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
ผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำ
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ประชาชนผู้บริโภคนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะทำให้เบาแรงในการทำความสะอาดมาก เหมือนกับที่โฆษณาว่าแค่ราดทิ้งไว้ แป๊บเดียวก็สะอาด แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางทีอาจใช้พร่ำเพรื่อโดยไม่จำเป็นก็ได้ ดังนั้นน่าจะมาทำความรู้จักกับผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำในเรื่องของสารเคมีที่ใช้ซึ่งโดยทั่วไปใช้กรดเกลือหรือชื่อทางเคมีว่ากรดไฮโดรคลอริกรวมถึงวิธีการใช้ ข้อควรระวังในการใช้ ความเป็นพิษ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ตลอดจนวิธีการเก็บรักษา
โครงสร้างทางเคมี
โครงสร้างทางเคมีของกรดไฮโดรคลอริกหรือกรดเกลือ คือ HCl ในผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำจะมีกรดไฮโดรคลอริกร้อยละ 8 ถึงร้อยละ 15 โดยน้ำหนัก และมีประสิทธิภาพในการทำความสะอาด ชะล้างรอยเปื้อนภายใน 5 นาที กรดไฮโดรคลอริกมีคุณสมบัติเป็นกรดแก่ ทำปฏิกิริยากับหินปูน(แคลเซียม) เกิดฟองฟู่ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสามารถกัดกร่อนโลหะได้เป็นอย่างดี จึงใช้ผสมทำความสะอาดห้องน้ำ เพื่อขจัดคราบที่เกิดจากการตกตะกอนของอนุภาค โลหะซึ่งเป็นคราบขาวเทา หรือคราบสนิมสีส้ม ตามผนังและพื้นห้องน้ำได้ นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอ่าง กระเบื้อง และโถส้วม
นอกจากนั้นอาจจะผสมกับกรดฟอสฟอริก และสารลดแรงตึงผิวเช่น Nonylphenol, Linear Alkyl Benzene Sulfonate (LAS) เพื่อให้สารออกฤทธิ์สัมผัสกับพื้นผิวห้องน้ำได้ดีขึ้น และทำความสะอาดได้ทั่วถึงมากขึ้น
อย่างไรก็ตามถ้าใช้ผลิตภัณฑ์สูตรนี้บ่อยๆ อาจทำให้ผิวหน้าของพื้นห้องน้ำค่อย ๆ หลุดออก ซึ่งเมื่อใช้ไปเป็นเวลานานพื้นห้องน้ำอาจถูกกัดเซาะผิวหน้า ทำให้ขรุขระไม่เรียบมัน และทำให้คราบสกปรกติดฝังแน่น ตรงรอยหยาบของผิวกระเบื้องได้มากขึ้น โดยทั่วไประยะเวลาของการถูกกัดเซาะนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับคุณภาพของ ผิวกระเบื้องที่ใช้ปูพื้นด้วย
ประโยชน์ ใช้ทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรคบริเวณพื้นห้องน้ำฝาผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ เหมาะสำหรับคราบสกปรกมาก และคราบฝังแน่น
วิธีการใช้ (กรดไฮโดรคลอริก 15%)
สำหรับการทำความสะอาด พื้นห้องน้ำ ผสมน้ำยากับน้ำในอัตราส่วน 1:2 (การผสมให้ค่อยๆ เทน้ำยาลงในน้ำ)
สำหรับการทำความสะอาด โถส้วม ผสมน้ำยากับน้ำในอัตราส่วน 1:1
สำหรับการฆ่าเชื้อโรค หลังทำความสะอาดแล้ว ผสมน้ำยากับน้ำในอัตราส่วน 1:2 เทราดลงบนพื้นบริเวณที่ต้องการฆ่าเชื้อ ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
ห้ามเทน้ำลงในน้ำยาที่มีกรดไฮโดรคลอริก
ข้อควรระวังในการใช้
- เมื่อต้องใช้ผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำที่มีกรดไฮโดรคลอริกเป็นส่วนประกอบ นอกจากจะใช้ให้เหมาะสมกับงานแล้ว ควรมีความระมัดระวังในการใช้และคำนึงถึงอันตรายที่อาจจะได้รับด้วย ดังนี้
- ขณะใช้ควรสวมถุงมือยาง และรองเท้ายาง ภายหลังจากการใช้หรือหยิบจับ ควรล้างถุงมือยาง รองเท้ายาง และมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง
- ระวังอย่าให้เข้าตา ถูกผิวหนัง หรือสูดดม และห้ารับประทาน
- ห้ามทิ้งผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำที่มีกรดไฮโดรคลอริก หรือภาชนะบรรจุลงในแม่น้ำ คูคลอง หล่งน้ำสาธารณะ เนื่องจากจะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในสิ่งแวดล้อม
ความเป็นพิษ
กรดไฮโดรคลอริกในผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ โดยการสัมผัส การหายใจและการรับประทานหรือกลืนกิน โดยทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพดังนี้
ถ้ากรดไฮโดรคลอริกถูกผิวหนังจะทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังอย่างรุนแรง ทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ บวม แดง เจ็บแสบและอาจทำให้เกิดผลเสียอย่างถาวรต่อผิวหนัง
ไอระเหยหรือละอองไอของกรดไฮโดรคลอริกแม้ในปริมาณน้อยๆ ก็ทำให้เกิดการระคายเคืองตาได้ ทำให้ตาแดง ในความเข้มข้นสูงๆ ทำให้เกิดแผลไหม้หรือตาบอดได้
การสูดดมไอระเหยของกรดไฮโดรคลอริกทำให้เกิดฤทธิ์กัดกร่อนระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่แสบจมูก ลำคอ ไปจนถึงหายใจลำบากได้ ถ้าสูดดมในปริมาณสูงๆ เป็นเวลานานอาจทำให้เป็นแผลไหม้ มีแผลอักเสบที่จมูกและลำคอ ปอดบวมน้ำและหายใจลำบาก
การกลืนหรือกินจะทำให้เกิดการระคายเคือง และแผลไหม้ที่ปาก ลำคอ ท่ออาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งมีผลทำให้เกิดมีอาการตั้งแต่กลืนลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง ชัก หรือถึงขั้นเสียชีวิต
การปฐมพยาบาล
หากถูกผิวหนัง ให้รีบล้างออกด้วยการรินน้ำผ่านเป็นปริมาณมากๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที ถ้าเปื้อนเสื้อผ้าให้รีบถอดออกแล้วล้างร่างกายด้วยน้ำและสบู่อ่อน ส่วนเสื้อผ้าให้นำไปซักก่อนนำมากลับมาใช้ใหม่ ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นให้รีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์
หากเข้าตา ให้รีบล้างออกจากตาโดยเร็ว ด้วยการรินน้ำอุ่นให้ไหลผ่านตาเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที พร้อมเปิดเปลือกตาบนและล่างเป็นครั้งคราว หากยังมีอาการระคายเคืองอยู่ให้นำผู้ป่วยไปพบแพทย์
หากหายใจเข้าไป ให้รีบนำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่สัมผัสมายังที่ซึ่งมีอากาศบริสุทธิ์ ถ้ามีอาการรุนแรงให้ช่วยผายปอดและปั๊มหัวใจ แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์
หากกลืนหรือกินเข้าไป ห้ามทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมา ถ้ายังมีสติอยู่ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำตามเข้าไปเป็นปริมาณมากๆ หรือให้ดื่มน้ำนมตามเข้าไปหลังจากดื่มน้ำเข้าไปแล้ว ล้างบริเวณปากผู้ป่วย และให้บ้วนปากด้วยน้ำ รีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์โดยเร็วที่สุด พร้อมด้วยภาชนะบรรจุ และฉลากของผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำ
การเก็บรักษา
ควรแยกเก็บไว้ในที่มิดชิด เป็นสัดส่วนห่างจากเด็กและสัตว์เลี้ยง และอย่าเก็บรวมกับอาหารหรือวางปะปนกับอาหาร นอกจากนี้ควรจัดเก็บในบริเวณที่แห้งไกลจากความร้อน แสงแดด เปลวไฟ วัตถุหรือสารไวไฟ รวมถึงโลหะหนัก เนื่องจากกรดไฮโดรคลอริกสามารถทำปฏิกิริยากับโลหะได้เป็นแก๊สไฮโดรเจนที่ติดไฟได้ง่าย ซึ่งทำให้เกิดอัคคีภัยและการระเบิดได้ และเมื่อใช้หมดแล้วควรทิ้งหรือทำลายภาชนะบรรจุหรือทำลาย ห้ามนำมาใส่อาหารหรือของบริโภคอื่น...
ดร.ฟริดริช เฮล์ม จากสถาบันสุขศาสตร์และสิ่งแวดล้อมในเมืองฮัมบวร์ก ประเทศเยอรมนีกล่าวเตือนว่า การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่รุนแรงในการล้างห้องน้ำ อ่างล้างหน้า พื้น ฯลฯ จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และน้ำยาทำความสะอาดที่แรงเกินจะส่งผลให้เป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้น และภูมิต้านโรคของร่างกายจะไวกับสิ่งแปลกปลอม เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ฟาง ผิวแพ้ง่าย และหากใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคบ่อยๆ เชื้อแบคทีเรียก็จะเคยชินกับน้ำยาและไม่สะดุ้งสะเทือนกับน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่นเดียวกับการใช้ยาปฎิชีวนะบ่อยๆ ก็จะทำให้เชื้อโรคดื้อยานั่นเอง ข้อแนะนำคือ ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่รุนแรง
น้ำยาฆ่าเชื้อโรคมีประโยชน์ในบางกรณี เช่น เมื่อมีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคติดเชื้อที่อันตราย (เช่น ไข้หวัดใหญ่) การทำความสะอาดพื้นและสิ่งสกปรกด้วยผงซักฟอกหรือสบู่ธรรมดาๆ ก็เพียงพอ การทำความสะอาดคราบต่างๆในห้องครัวหรือห้องน้ำให้ใช้น้ำส้มสายชูหรือน้ำผสมน้ำส้มสายชู (น้ำส้มสายชูหนึ่งช้อนโต๊ะผสมกับน้ำหนึ่งลิตร) คราบไขมันที่แก้วและกระจกให้ใช้แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 60% ทำความสะอาด หรือผสมกับน้ำ 1:1 ส่วนสำหรับล้างขวด
ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
http://anamai.in.th
http://www.pharm.su.ac.th
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น