วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

น้ำยาทำความสะอาดพื้น



   น้ำยาทำความสะอาดพื้น เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยมีผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดหลายยี่ห้อให้เลือกซื้อ ส่วนประกอบสำคัญซึ่งมีบทบาทในการชำระล้างคราบมันสกปรก   คือสารลดแรงตึงผิว (surfactant) นอกจากนี้ยังมีการเติมสารอื่น ๆ และสารปรุงแต่ง ได้แก่   สารขจัดคราบ   สารให้กลิ่นหอม และ สี  เป็นต้น เพื่อช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพดีและน่าใช้มากยิ่งขึ้น    


         โครงสร้างทางเคมีของสารลดแรงตึงผิวประกอบด้วยสองส่วนหลักคือ ส่วนหัวซึ่งมีคุณสมบัติชอบน้ำ (hydrophilic head group) และส่วนหางซึ่งไม่มีขั้วและมีคุณสมบัติชอบไขมัน (hydrophobic tail)


        สารลดแรงตึงผิวที่มักพบว่ามีผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดประเภทต่าง ๆ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทหลักตามชนิดโครงสร้างของส่วนหัว ได้แก่


            สารลดแรงตึงผิวชนิดประจุลบ (anionic surfactant) เช่น สารกลุ่มอัลคิลเบนซีน ซัลโฟเนต (alkylbenzene sulfonate) อัลคิล ซัลเฟต (alkyl sulfate) และ อัลคิล ฟอสเฟต (alkyl phosphate) ในรูปเกลือโซเดียม เป็นต้น


    สารลดแรงตึงผิวชนิดประจุบวก  (cationic surfactant)    ส่วนใหญ่เป็นสารประกอบของควอเทอนารีแอมโมเนียม (quaternary ammonium) ซึ่งเป็นส่วนที่มีประจุบวกโดยมักพบในรูปเกลือคลอไรด์ เช่น เบนซัลโคเนียม คลอไรด์ (benzalkonium chloride) เป็นต้น สารในกลุ่มนี้ยังมักพบว่ามีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียด้วย
    สารลดแรงตึงผิวชนิดไม่มีประจุ (nonionic surfactant)  เช่น สารในกลุ่มอัลคิล ฟีนอล (alkyl phenol)  อัลคิล ฟีนอล เอธอกซีเลต (alkyl phenol ethoxylates)  และ อัลคิล แอลกอฮอล์ เอธอกซีเลต (alkyl alcohol ethoxylates) เป็นต้น
   สารลดแรงตึงผิวที่มีประจุบวกและประจุลบ  (amphoteric surfactant)   เช่น   สารประกอบในกลุ่มของอัลคิล บีเทน (alkyl betaine) เป็นต้น
   สารลดแรงตึงผิวแต่ละประเภทดังข้างต้นมีการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์ชำระล้างชนิดต่าง ๆ เช่น สารลดแรงตึงผิวชนิดประจุลบมักเป็นชนิดที่นิยมใช้กันมากในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั่วไป เนื่องจากมีคุณสมบัติในการชำระล้างได้ดี สารลดแรงตึงผิวชนิดประจุบวกอาจมีการนำมาผสมในน้ำยาทำความสะอาดสูตรฆ่าเชื้อโรค  สารลดแรงตึงผิวชนิดที่มีทั้งประจุบวก และลบมักใช้ในผลิตภัณฑ์ชำระล้างสำหรับเด็ก เนื่องจากมีคุณสมบัติก่อการระคายเคืองต่อตา และผิวหนังค่อนข้างน้อย สำหรับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดประเภทน้ำยาทำความสะอาดพื้น มักนิยมใช้สารลดแรงตึงผิวชนิดที่ไม่มีประจุ เนื่องจากให้ฟองน้อย สามารถทำความสะอาดพื้นผิวได้ดี หนึ่งในสารลดแรงตึงผิวชนิดนี้ ที่มักพบได้บ่อยในผลิตภัณฑ์น้ำยาทำความสะอาดพื้นผิวยี่ห้อต่าง ๆ  คือ   สารกลุ่มอัลคิล  ฟีนอล เอธอกซีเลต  เช่น โนนิล ฟีนอล อีธอกซีเลต (15 EO)  (nonyl phenol ethoxylates (15 EO)) เป็นต้น ซึ่งจะขอกล่าวถึงรายละเอียดดังต่อไปนี้


โครงสร้างทางเคมีและกลไกการออกฤทธิ์


            โนนิล ฟีนอล เอธอกซีเลต (15 EO)  หรืออาจเรียกว่า  อธอกซีเลตเตท โนนิล ฟีนอล (ethoxylated nonyl phenol)   (ใช้ชื่อย่อว่า NPE-15EO)   เป็นสารอนุพันธ์ในกลุ่มโนนิล ฟีนอลที่มีการเติมหมู่เอธิลีน ออกไซด์ (ethylene oxide) ลงในโครงสร้าง ตัวเลข 15 EO ที่อยู่ในวงเล็บระบุถึงจำนวนโมเลกุลของหมู่เอธิลีน ออกไซด์ที่มีอยู่ในโครงสร้าง
NPE-15EO มีลักษณะเป็นไขสีขาว สามารถนำมาเป็นส่วนผสมสำคัญในผลิตภัณฑ์น้ำยาทำความสะอาดพื้นที่ความเข้มข้นต่าง ๆ เช่น 1 – 3 % เป็นต้น  กลไกการทำความสะอาดเกิดจากการทำงานของสารลดแรงตึงผิว  โดยส่วนหางที่ชอบไขมัน (สายโซ่คาร์บอนโนนิล) จะหันเข้าไปเกาะกับสิ่งสกปรกคราบไขมัน   ในขณะที่โครงสร้างส่วนที่ชอบน้ำของ NPE จะเรียงตัวหันออกเข้าจับกับน้ำ เกิดการรวมตัวเป็นไมเซลล์ (micelle) ช่วยในการกระจายตัวอยู่ในตัวกลางที่เป็นน้ำ กักเก็บคราบไขมันไว้ภายใน
นอกจากนี้การที่ NPE เป็นสารลดแรงตึงผิวชนิดไม่มีประจุ จึงเกิดฟองน้อยและมีคุณสมบัติในการรวมตัวเป็นไมเซลล์ได้ที่ความเข้มข้นต่ำ ล้อมรอบสิ่งสกปรกคราบไขมันไว้ด้านใน จึงป้องกันสิ่งสกปรกที่กระจายตัวอยู่ในน้ำกลับมาเกาะที่พื้นผิวอีกครั้ง


ความเป็นพิษและอาการพิษ


            น้ำยาทำความสะอาดพื้นที่มี   NPE    เป็นส่วนผสม   หากใช้ในปริมาณและความเข้มข้นที่เหมาะสมตามฉลากแนะนำ จัดเป็นสารที่มีความเป็นพิษค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปแล้ว ความรุนแรงของการเกิดพิษขึ้นกับความเข้มข้น ปริมาณที่ได้รับ และทางที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย


            มีรายงานความเป็นพิษแบบเฉียบพลันของสาร NPE เช่น หากรับประทาน สูดดม หรือสัมผัสกับผิวหนังที่ความเข้มข้นสูง ๆ   จะทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ตา และผิวหนังอย่างรุนแรง มีอาการไอ วิงเวียน หายใจหอบถี่ อาเจียน


            จากการทดสอบในสัตว์ทดลองพบว่า ปริมาณสารต่ำสุดที่ทำให้หนูทดลองตายร้อยละ  50 อยู่ที่ประมาณ 1650 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม


ข้อควรระวัง
 - ควรระวังการสัมผัสโดยตรงกับน้ำยาทำความสะอาดพื้นที่ยังมิได้ผ่านการผสมน้ำ เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้บ้าง  น้ำยาทำความสะอาดพื้น ที่มีสารกลุ่มนี้ผสมอาจมีอยู่ในสัดส่วนประมาณไม่เกิน  ร้อยละ 3  แต่ในกรณีที่มีสารอื่นผสมในผลิตภัณฑ์นั้นด้วย เช่น กรด ด่าง สารลดแรงตึงผิวชนิดประจุบวก อาจเพิ่มความรุนแรงของอาการระคายเคืองมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหากมีการกระเด็น เข้าตา ผู้ใช้ควรปฏิบัติให้ถูกต้องตามวิธี ข้อบ่งใช้ ข้อควรระวังและคำเตือนตามที่ระบุไว้บนฉลากของผลิตภัณฑ์          


           - นอกจากนี้เนื่องจากสาร NPE  มีรายงานความเป็นพิษในสัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น แมลง สัตว์ และพืชน้ำหลายชนิด มีการสะสมตกค้างในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานาน ดังนั้นจึงห้ามทิ้งขวดบรรจุภัณฑ์โดยตรงลงในแหล่งน้ำสาธารณะ
การปฐมพยาบาล


            ในกรณีที่ได้รับน้ำยาทำความสะอาดพื้น  ที่มีสารนี้ผสมอยู่ในปริมาณเล็กน้อย  มักไม่เกิดการระคายเคืองที่รุนแรงแต่อย่างใด อาจเพียงแต่ล้างบริเวณสัมผัสด้วยน้ำ  แต่หากกรณีที่ได้รับสารในปริมาณมากให้ปฏิบัติดังนี้


             หากสัมผัสผิวหนังให้ล้างออกด้วยน้ำจำนวนมาก หากเปื้อนเสื้อผ้าให้ถอดออก และล้างร่างกายด้วยน้ำมาก ๆ   หากเข้าตาให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาด จนอาการทุเลา ตรวจดูบริเวณที่สัมผัสสาร หากอาการไม่บรรเทาให้รีบนำส่งแพทย์


             หากรับประทาน ในกรณีที่ปริมาณน้อยให้ดื่มน้ำเพื่อเจือจาง จัดร่างกายให้อยู่ในท่าศีรษะสูง เพื่อป้องกันการสำลัก ในกรณีที่ได้รับปริมาณมาก ห้ามทำให้อาเจียนและรีบนำส่งแพทย์
การเก็บรักษา

            เก็บในที่มิดชิดห่างจากเด็ก อาหารและสัตว์เลี้ยง




ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:


http://anamai.in.th
http://www.pharm.su.ac.th



1 ความคิดเห็น: