วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พ่อแม่แบบไหนทำลูกมึน เปลี้ย เอียน หน่าย

เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป ผู้ทำงานด้านพัฒนาเด็ก ครอบครัว และชุมชนที่ด้อยโอกาส
พฤติกรรมหลายๆ อย่างของพ่อแม่ในยุคนี้ส่งผลให้ลูกเข้มแข็ม ในขณะที่พฤติกรรมหลายๆ อย่าง อาจส่งผลให้ลูกอ่อนแอ พร้อมกับรู้สึกเหนื่อยใจ และต้องถอนหายใจออกมาแรงๆ ด้วยความหงุดหงิด เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกตามมาได้ วันนี้เรามีข้อมูลดีๆ จาก เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และนักวิจัยด้านศึกษา และพัฒนาการศึกษาเด็กปฐมวัยเกี่ยวกับรูปแบบความเป็นพ่อแม่ที่ทำให้ลูกมึน เปลี้ย เอียน และหน่ายมาฝากกัน เริ่มจาก

       
       พ่อแม่ในตำรา
       
       พ่อแม่ในกลุ่มนี้มักจะมีหลักการทางวิชาการมาสนับสนุน การเลี้ยงลูกจึงถูกวางแผนตามข้อเสนอแนะของแพทย์ นักพัฒนาการ และนักโภชนาการ หรือนักพัฒนาการของลูกในแต่ละขวบปี รวมไปถึงต้องมีการกระตุ้นด้วยของเล่นตามหลักการ เล่นอย่างเหมาะสมกับวัย เรียกได้ว่าทุกอย่างต้องพึ่งพานักวิชาการไปทุกเรื่องในทุกขั้นตอน เพราะไม่เช่นนั้นจะรู้สึกไม่มั่นใจ ซึ่งการเลี้ยงลูกในลักษณะนี้ อาจทำให้ลูกเกิดอาการมึนได้ ทางที่ดี ควรลดความเป็นวิชาการลงบ้าง เนื่องจากบางเรื่องบางปัญหาไม่ต้องเป๊ะเหมือนในหนังสือทุกอย่างก็ได้
       
       มีความวิตกกังวลสูง
       
       ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อแม่มือใหม่ที่ชอบวิตกกังวลไปทุกเรื่อง ชอบตีตนไปก่อนไข้ กลัวว่า ลูกจะไม่สมบูรณ์ กลัวว่า ลูกจะไม่เหมือนลูกคนอื่น โตขึ้นจะไม่เก่ง ไม่ฉลาดปราดเปรื่อง ในขณะเดียวกัน จะทะนุถนอมลูกมาก ช่วยเหลือลูกตลอด ไม่พาลูกออกไปเล่น เพราะกลัวจะถูกรังแก หรือไม่ปล่อยให้ลูกมีอิสระในการเล่น เวลามีปัญหาอะไรจะเข้าไปประคบประหงมลูกทุกเรื่องจนลูกไม่รู้จักความยากลำบาก พ่อแม่ในกลุ่มนี้อาจทำให้ลูกง่อยเปลี้ยได้ ทางที่ดี ควรลดความกลัว และความวิตกกังวลลงมาบ้าง ไม่เช่นนั้น อาจทำให้คุณและลูกเครียดไปตามๆ กันได้
       
       ไร้เหตุผล ตามใจลูกทุกอย่าง
       
       พ่อแม่ในกลุ่มนี้ เวลาลูกอยากได้อะไรเป็นต้องได้ ไม่กล้าดุไม่กล้าสอนลูก ทำทุกสิ่งที่ลูกต้องการ ปรนเปรอลูกจนล้น ทั้งของเล่น ขนม และอื่นๆ จนบางครั้งลูกแสดงอาการเอียน หรือเฉยๆ กับสิ่งที่พ่อแม่ให้ หรืออาจกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจได้ ทางที่ดี ควรมีเหตุผล ไม่ใช่ตามใจกันทุกเรื่อง
       
       ระเบียบจัด ชอบคาดหวัง
       
       พ่อแม่ในกลุ่มนี้ มักจะคิดเสมอว่า การเลี้ยงลูกให้ดีได้ต้องเลี้ยงให้อยู่ในบรรทัดฐานของตัวเอง ลูกจะได้เป็นไปตามที่คาดหวัง จึงเป็นผู้กำหนดตารางชีวิตให้ลูกทุกสิ่งทุกอย่างตามที่พ่อแม่เห็นว่าดี ลูกเป็นเพียงผู้รับคำสั่งแล้วทำตาม เช่น ต้องทำอย่างนั้น ต้องเล่นแบบนี้ เนื่องจากเชื่อว่า สิ่งที่พ่อแม่จัดให้ล้วนเป็นสิ่งที่ดีที่สุดทั้งสิ้น นอกจากนั้นยังมีรายละเอียดการใช้ชีวิตมากมายทั้งเรื่องการกิน การนอน หรือการเรียน เรียกได้ว่าทุกอย่างต้องเป๊ะ เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจทำให้ลูกมีอาการ “หน่าย” จนเกิดเป็นความกดดัน และความเครียดตามมาได้ ทางที่ดี ควรลดความระเบียบจัด และความคาดหวังลงบ้าง เรื่องไหนที่พอจะยืดหยุ่นได้ก็ควรพูดคุย หรือตกลงกันด้วยท่าที และคำพูดที่ไม่ทำร้ายความรู้สึกของลูก



*** แบบไหนคือ “พ่อแม่” ที่ลูกปรารถนา?
       
       สำหรับพ่อแม่ที่ลูกๆ ปรารถนา เรื่องนี้ เรืองศักดิ์ ให้ความเห็นผ่านทีมงาน Life & Family ว่า ควรเป็นพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบสบาย ๆ ไม่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง ใช้ชีวิตอย่างพอดีๆ เข้มงวดบ้าง ผ่อนปรนบ้าง เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นอย่างอิสระ ได้คิด ได้ทำอะไรๆ ด้วยตัวเอง เมื่อเห็นลูกทำดี ทำอะไรสำเร็จตามวัยของลูก ก็แสดงความชื่นชม รู้ว่าจังหวะไหนควรสอน เช่น เวลาใดที่ลูกควรเรียนรู้อะไรใหม่ๆ
       
       นอกจากนั้น เมื่อลูกผิดหวังหรือพบความเจ็บปวด ควรให้กำลังใจอย่างสุภาพอ่อนโยน ปลอบใจไม่ทับถม ที่สำคัญ เมื่อลูกทำผิด คิดพลาดก็ควรให้อภัย และไม่ควรขุดเอาเรื่อง หรือเหตุการณ์เก่าๆ ขึ้นพูดมาซ้ำย้ำรอยอีก เพราะถ้าพ่อแม่ไม่ให้อภัย ลูกก็จะไม่สามารถลุกขึ้นเริ่มต้นใหม่ได้เลย
       
       “อยากบอกพ่อๆ แม่ๆ ทุกคน ว่า คำพูดและการกระทำของพ่อแม่นี่แหละ ที่ทำให้ลูกสัมผัสและรับรู้ถึงความรักได้มากที่สุดดีกว่าการพร่ำพูดว่ารักผ่านข้อความทางโทรศัพท์ หรือระบบดิจิตอลใดๆ ดังนั้น การให้เวลาที่ดี มีคุณภาพกับลูกเป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องให้ ก่อนที่อะไรๆ จะสายเกินแก้ เรื่องอย่างนี้ใครก็ทำแทนใครไม่ได้หรอก อยากได้ต้องลงมือ ลงใจทำเอง สำหรับลูกแล้ว พ่อแม่ต้องทำดี อย่าเดี๋ยว" ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาเด็ก และครอบครัวท่านนี้ฝากทิ้งท้าย
       
       /////////////
       
       อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจากหนังสือสร้างลูกรักให้เป็นนักอ่าน ร้อยเรียงโดย เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป สำนักพิมพ์ แปลนฟอร์ คิดส์ จำกัด


ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th : 12 มิถุนายน 2555 12:11 น.

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น